Haijai.com


แม่ไปไหน หนูไปด้วย


 
เปิดอ่าน 1721

แม่ไปไหน หนูไปด้วย

 

 

“ไม่เอา หนูจะหาแม่ หนูจะไปกับแม่ด้วย” เอาอีกแล้ว เสียงเจ้าตัวเล็กร้องโวยวายขึ้นมาทันทีเมื่อไม่เห็นตัวคุณ ทั้งๆ ที่คุณก็ไม่ได้ไปไหนไกลเลย เอ! หรืออาการติดแม่จะแผลงฤทธิ์ กับลูกของเราเข้าแล้วนะ

 

 

หากช่วงนี้เจ้าตัวเล็กของคุณมีอาการประมาณ “ถ้าแม่ไปไหนให้หนูไปด้วย” หรือไม่ว่าคุณจะไปไหน ทำอะไรอยู่ หากไม่อยู่ในสายตาของเจ้าตัวเล็กแล้วล่ะก็ คุณก็จะได้ยินเสียงเรียก “คุณแม่!” อยู่ร่ำไป แสดงว่าลูกของคุณกำลังมีอาการติดแม่แบบเหนียวแน่นหนึบแล้วล่ะค่ะ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่แก้ไขพฤติกรรมนี้ เมื่อถึงวันที่ลูกต้องออกไปเผชิญโลกใบใหญ่ หรือเข้าไปใช้ชีวิตในโรงเรียนแล้วล่ะก็ คุณก็คงอดห่วงหรือเป็นกังวลไม่ได้จริงไหมคะ แต่ก็ใช่ว่า การที่เจ้าตัวเล็กติดแม่จะทำไปเพราะขี้อ้อน หรือไร้เหตุผลเสียเมื่อไร อันที่จริงแล้วมีหลายสาเหตุด้วยกันที่ทำให้เจ้าตัวเล็กติดแม่แบบเหนียวแน่นหนึบ ชนิดที่เรียกว่าตังเมเรียกพี่ เราไปดูกันค่ะ

 

 

ติดแม่เพราะพัฒนาการ

 

เมื่อเจ้าตัวเล็กเข้าสู่ช่วงขวบปีที่ 2 ลูกจะเริ่มรู้สึกและรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงการรับรู้เข้ากับเวลาและระยะทางได้แล้ว ดังนั้นเมื่อลูกไม่เห็นคุณอยู่ในระยะสายตา ลูกก็จะเข้าใจได้ว่าคุณอยู่ในที่ไกลออกไป แต่ไม่รู้ว่าไกลแค่ไหนและเมื่อไหร่จะกลับ การรับรู้ในลักษณะนี้นี่เองที่ทำให้ลูกเกิดความกังวลและหวาดกลัว จนกลายเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงขึ้นมา จึงทำให้ลูกกลายเป็นเด็กติดแม่ได้ในที่สุด

 

 

ติดแม่เพราะการเลี้ยงดู

 

สไตล์การเลี้ยงดูลูกก็มีส่วนในการทำให้ลูกเป็นเด็กติดแม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกแบบประคบประหงมมากเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำอะไรเอง สอนให้ลูกระมัด ระวังตัวมากจนเกินเหตุ (อาจเป็นเพราะความกลัวของคุณพ่อคุณแม่เอง) การเลี้ยงดูลูกในลักษณะนี้ก็อาจจะเป็นการปลูกฝังความกลัวอย่างไม่มีเหตุผลให้ลูกได้ ผนวกกับการเคยชินกับ การที่มีคุณอยู่ใกล้ๆ คอยดูแลปกป้อง ก็จะยิ่งทำให้ลูกยึดติดกับคุณมากขึ้น ขาดความมั่นใจที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นปัญหาได้เมื่อลูกเติบโตขึ้น

 

 

ติดแม่เพราะชีวิตเปลี่ยนแปลง

 

บางครั้งอาการติดแม่นั้นจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อลูกอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลูกพอจะรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้บ้างแล้ว ลูกอาจจะเริ่มสังเกตเห็นว่าคุณออกจากบ้านแต่เช้า กว่าจะกลับมาก็ดึก จึงอยากมีเวลากับคุณมากขึ้น นอกจากนี้การที่ครอบครัวกำลังจะมีน้องใหม่ ย้ายบ้าน เปลี่ยนพี่เลี้ยงคนใหม่ หรือการเริ่มเข้าโรงเรียน ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้ลูกรู้สึกหวาดกลัว หวั่นไหว ไม่มั่นคง กลัวโดนทิ้ง ซึ่งทำให้เกิดอาการติดแม่ตามมาได้เช่นกัน

 

 

การเลี้ยงลูกแบบประคบประหงมมากเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำอะไรเอง สอนให้ลูกระมัดระวังตัวมากจนเกินเหตุ (อาจเป็นเพราะความกลัวของคุณพ่อคุณแม่เอง) การเลี้ยงดูลูกในลักษณะนี้ก็อาจจะเป็นการปลูกฝังความกลัวอย่างไม่มีเหตุผลให้ลูกได้ ผนวกกับการเคยชินกับการที่มีคุณอยู่ใกล้ๆ คอยดูแลปกป้องก็จะยิ่งทำให้ลูกยึดติดกับคุณมากขึ้น

(Some images used under license from Shutterstock.com.)