Haijai.com


เปล่าทำ ไม่ได้โกหก


 
เปิดอ่าน 1699

เปล่าทำ ไม่ได้โกหก

 

 

“ปล่าวอ่ะ หนูปล่าวทำ มีมี่ทำแตก”

 

“ฟรองซ์ ชวนหนูหักกิ่งไม้หน้าห้องเรียน”

 

“หนูไม่มีการบ้านจริงๆ น้า”

 

 

พ่อแม่ที่มีลูกวัยเรียน คงเจอสักเหตุการณ์ล่ะที่ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเจ้าตัวเล็กของเรากำลังโกหก แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่จะปล่อยให้นิสัยและพฤติกรรมแบบนี้ติดตัวไปจนโตคงไม่ไหว เราลองมามองหาสาเหตุกันเถอะคะ

 

 

นานาเหตุผล ที่หนูต้องโกหก

 

การพูดปดหรือโกหกของเด็กๆ อาจมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น

 

 เรียกร้องความสนใจ เช่น เด็กบางคนอาจทำพฤติกรรมแผลงๆ  ซึ่งรวมทั้งการโกหกเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้หันมาสนใจมากขึ้น

 

 

 ถ้าพูดปฏิเสธออกไป จะทำให้ตัวเองรอดพ้นจากการถูกลงโทษ การพูดปดอาจจะเกิดจากความพยายามของเด็กที่คิดว่า พูดแล้วพ้นผิดไปที

 

 

 การบีบคั้นจากพ่อแม่มากเกินไป เช่น ต้อนเด็กจนเด็กรู้สึกจนมุม ทำให้ต้องโกหกออกมาก็เป็นได้

 

 

นอกจากนี้เด็กบางคนอาจคิดว่าถ้าพูดปดแล้วเป็นผลดีกับตัวเขาเอง ลูกก็อาจจะใช้วิธีการนี้บ่อยๆ ได้เช่นกัน

 

 

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องพยายามพิจารณาดูว่าการพูดปดของลูกเกิดมาจากสาเหตุใด  ถ้าคิดว่ามาจากสาเหตุที่เด็กต้องการให้คุณพ่อคุณแม่สนใจในตัวลูกเองมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพยายามหันมาสนใจกับเด็กให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันให้เด็กได้รู้ว่าคุณไม่นิยมชมชอบในการโกหกของเขา  แต่ให้พยายามหันมาสนใจเมื่อเขาไม่โกหก จะช่วยทำให้ลูกรู้ว่า ลูกไม่จำเป็นต้องใช้วิธีโกหกมาเพื่อเรียกร้องให้คุณมาสนใจอีกต่อไป

 

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าการโกหกมิได้เกิดจากการเรียกร้องความสนใจของเด็ก กล่าวคือ อยู่ๆ ลูกที่ดูบริสุทธิ์และแสนซื่อของคุณเกิดลุกขึ้นมาโกหกได้อย่างหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่คุณ " จับ" ได้คาหนังคาเขาละก็ สิ่งที่คุณควรทำก็คือ

 

 

1. อย่าตีโพยตีพายจนเกินเหตุ ฟ้าก็ไม่ได้ถล่มดินก็ไม่ได้ทลายเมื่อลูกพูดปด และอย่าลงโทษตัวเองว่าคุณหรือลูกใช้ไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะมานั่งลงโทษตัวเอง หรือลงโทษลูกว่าใครคือคนผิด

 

 

2. อย่าพยายามบีบคั้นลูก ด้วยคำถามซึ่งคุณเองรู้คำตอบดีแล้วเต็มอก เพราะการบีบคั้นนี้ จะเป็นการทำให้ลูกต้องโกหกออกมาจริงๆ เช่น เมื่อคุณรู้อยู่แน่ชัดแล้วว่า ลูกทำแจกันตกมาแตก ก็ไม่ต้องถามคำถามนำเช่น " ลูกทำแจกันของพ่อแตกใช่ไหม…" ซึ่งแน่นอนว่าหนูอ้อจะต้องปฏิเสธว่า เธอไม่ได้เป็นคนทำ (ทั้งๆ ที่ก็ไม่มีคนอื่นอยู่ในห้องอีกเลย)  แต่หากเด็กได้ทำสิ่งของเสียหาย ทั้งๆ ที่คุณเคยห้ามหรือเตือนเขาแล้ว แทนการถามคำถาม (ที่ไม่เข้าท่า) นี้ออกไป ให้พูดด้วยสำเนียงปกติว่า " ลูกทำแจกันใบนี้แตก ลูกจะหาอะไรมาแทนได้อย่างไร…" พยายามอย่าเถียงกับเด็ก (เพราะคุณโตกว่าเขามาก) การหาสิ่งมาทดแทนอาจเป็นการที่เด็กต้องยอมให้คุณพ่อหักค่าขนมของแกไปตลอด 1 อาทิตย์ก็เป็นได้ หรืออาจจะเป็นทางออกอย่างอื่นที่เด็กเสนอขึ้นมาให้พิจารณา เช่น เขาอาจจะยอมที่จะถูกงดของขวัญวันเกิดที่เขาเคยได้ในปีนี้ ฯลฯ

 

 

3. การหาสิ่งมาทดแทน เมื่อเด็กพูดปดนี้ จะได้ผลดีมากกว่าการลงโทษโดยการตีเด็กหรือดุด่าประจาน ให้เด็กได้รับความอับอายเจ็บปวดและยังเป็นการสอนให้เด็กรู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำลงไปอีกด้วย

 

 

ดังนั้น ถ้าน้องต่อแอบขโมยเงินในกระเป๋าของคุณพ่อไป แทนที่คุณพ่อจะลงมือลงไม้กับน้องต่อ คุณพ่อควรถามน้องต่อว่า เขาจะจ่ายกลับคืนมาได้อย่างไร… น้องต่ออาจจะยอมให้คุณพ่อถอนเงินส่วนตัว ของน้องต่อมาชดใช้ หรือหักค่าขนมเป็นระยะเวลาเท่ากับจำนวนเงินส่วนตัวที่น้องต่อหยิบจากกระเป๋าคุณพ่อไป หรือคุณพ่ออาจจะ "สร้างงาน" เล็กๆ น้อยๆ ให้น้องต่อทำเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการชำระล้างหนี้ ที่น้องต่อทำไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่า เมื่อเขาทำผิดลงไป เขาจำเป็นที่จะต้องชดใช้เสมอ แต่การ "ชดใช้" ของเขาควรเป็นสิ่งสมเหตุสมผล กล่าวคือ อย่าให้เป็นการ "โหด" จนเกินไป เช่นถ้าเขาขโมยเงินไป 100 บาท ก็ไม่ควรตัดเงินค่าขนมเขาไป 1 เดือน ซึ่งไม่สมเหตุสมผล และถ้าคุณทำเช่นนั้นเด็กก็จะรู้สึกว่าคุณไม่ยุติธรรมและเขาจะรู้สึกต่อต้านคุณขึ้นมา

 

 

4. อย่าตั้งสมญาให้กับเด็ก การพูดปดของเด็กเพียงเล็กน้อยไม่ควรจะกลายเป็นชนักที่ติดหลังเขา ไปจนชั่วชีวิต ดังนั้นสมญาต่างๆ เช่น ไอ้ขี้ขโมย ไอ้โกหก ฯลฯ รวมทั้งคำสาปแช่งต่างๆ จึงไม่ควรใช้กับเด็ก

 

 

5. อย่าใจอ่อน ถ้าตั้งใจจะฝึกวินัยให้ลูกเมื่อลูกพูดปด ลูกจะต้องมีการทดแทนแก้ไขในสิ่งผิดนั้น อย่าดุลูกด้วยเสียงอันดัง พร้อมกับจบลงด้วย "ทีหลังอย่าทำเช่นนี้อีก" คำพูดนี้จะไม่มีวันใช้ได้ผล โปรดให้เด็กเข้าใจว่า พฤติกรรมไม่ดี ต้องได้รับการแก้ไข และเด็กจะต้องรับผิดชอบ ในพฤติกรรมโกหกของเขาเสมอ การใช้อารมณ์วู่วามทำร้ายร่างกายเด็ก หรือด่าทอ นอกจากจะสร้างความโกรธแค้นแล้ว ยังอาจมีผลในทางลบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เด็กอาจประชด หรือทำการโกหกบ่อยครั้งขึ้นเพื่อแก้แค้นก็ได้

 

 

6. อย่าลืมให้คำชม เมื่อเด็กประพฤติตัวในทางซื่อสัตย์สุจริต หรือทำตัวเป็นที่น่าไว้วางใจมากขึ้น เด็กจะได้ทำพฤติกรรมนั้นบ่อยครั้งขึ้น

 

 

การเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพกายและจิตที่ดีนั้น ไม่ใช่ของง่าย แต่ตราบใดที่คุณมีความรัก ความอบอุ่น และให้กำลังใจแก่เด็กอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ง่ายขึ้น และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดกับครอบครัวได้อีกด้วย

 

 

โปรดระลึกไว้เสมอว่า มาตรการต่างๆ ที่เราจัดขึ้นนั้น เราต้องการเพียงสอนให้เด็กรู้ว่า การพูดปดไม่เป็นสิ่งควรทำและเมื่อเขาทำลงไป เขาต้องรับใช้ผลแห่งการกระทำนั้นเสมอเท่านั้น

(Some images used under license from Shutterstock.com.)